แบ่งปันไม่ง่ายสำหรับเด็ก
เราถูกสอนมาเสมอตั้งแต่เด็กๆ ว่าการแบ่งปันเป็นสิ่งที่ดี เป็นนิสัยที่เราควรจะต้องมี เราต้องรู้จักเสียสละสิ่งของที่เรามีและแบ่งให้ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือคนในครอบครัว ยิ่งเราเป็นพี่แล้วนั้น ยิ่งต้องรู้จักที่จะเสียสละแบ่งให้น้อง หากเราไม่ยอมแบ่งปัน จะถูกตำหนิและเราจะกลายเป็นเด็กที่ไม่มีน้ำใจ ไม่น่าเล่นด้วย คุณพ่อคุณแม่ลองย้อนไปนึกถึงสมัยยังเด็กและคิดว่า ในตอนนั้นเราพร้อมแบ่งสิ่งของต่างๆ นั้นให้ผู้อื่นจริงๆ หรอ? เราสงสัยไหมว่า ทำไมต้องแบ่ง? การสอนแบบนี้ยุติธรรมกับเด็กแล้วใช่หรือไม่?
ในความเป็นจริง การแบ่งปันเป็นสิ่งที่ท้าทายกับเด็กมาก เพราะเด็กเติบโตมาจากตัวเขาเองที่เป็นศูนย์กลางจักรวาล (ego-centric) และคิดว่าคนอื่นเข้าใจและต้องคิดเหมือนกับที่ตัวเองคิด ดังนั้นหากเขาอยากได้ ก็คือหยิบมาให้ได้ หรือ เล่นตามใจตัวเขาเองให้ได้ นั่นคือ กระบวนการคิดตามวัยที่เด็กจะโตขึ้น สัมพันธ์กับพฤติกรรมการแบ่งปันของด้วย จริงๆ แล้ว การแบ่งปันไม่ได้หมายความถึง การที่เด็กแบ่งสิ่งของของตัวเองให้ผู้อื่นแต่อย่างเดียว ยังหมายรวมถึงการที่เด็กรู้จักเอาใจเขาใส่ใจเรา เข้าใจความรู้สึกผู้อื่น และการเล่นในสังคมที่สามารถเจรจาตกลงกันได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในพัฒนาการที่ต้องอาศัยเวลาเพื่อที่จะเรียนรู้และพัฒนาทักษะกระบวนการคิดไปพร้อมๆ กัน ดังนั้น การแบ่งปันเป็นทักษะที่รอได้ค่ะ พ่อแม่ชะลอใจ ยังไม่ต้องรีบเร่งให้ลูกแบ่งปัน เพียงแต่เป็นต้นแบบและหาโอกาสให้ลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมของการแบ่งปัน เปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้และแบ่งปันเองเมื่อเขาพร้อมค่ะ
แล้วพ่อแม่จะช่วยเปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้ที่จะแบ่งปันได้อย่างไร ลองทำตามวิธีนี้ค่ะ
1. เติมใจลูกให้เต็ม การเติมใจให้เต็มนี้ไม่ได้หมายความว่า พ่อแม่ต้องตามใจให้ทุกอย่างที่ลูกต้องการนะคะ แต่หมายถึง การที่พ่อแม่ให้ความรักและยอมรับในแบบที่ลูกเป็น เมื่อเด็กรู้สึกเต็ม รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีคนรัก มีตัวตนแล้ว เด็กจะพร้อมที่จะแบ่งปันสิ่งต่างๆ ไม่ว่า
จะเป็นความรักหรือสิ่งของให้กับผู้อื่นด้วยความเต็มใจค่ะ
ครูปองกระซิบบอกเทคนิคที่ช่วยเติมใจให้ลูกได้อย่างมากเลย คือ เทคนิคสะท้อนอารมณ์และยอมรับความรู้สึก นั่นเองค่ะ
2. เริ่มต้นจากการสลับกันเล่น เพื่อที่เด็กจะได้ฝึกชะลอใจตัวเอง รอคอย และเรียนรู้ว่าของเล่นที่เขาชอบนั้นไม่ได้หายจากไปไหน เพียงแค่เราสลับที่จะเล่นด้วยกันและเราสามารถสนุกด้วยกันได้
ครูปองกระซิบบอกเทคนิคที่ช่วยให้เด็กสลับกันเล่นได้อย่างราบรื่น นั่นคือ การตั้งเวลา ค่ะ
3. ให้เด็กเป็นผู้เลือกอย่างอิสระ มีงานวิจัยศึกษาพบว่า เด็กจะมีพฤติกรรมการแบ่งปันมากขึ้น เมื่อเขาได้รับการเสนอทางเลือกให้เขาเป็นผู้เลือกที่จะแบ่งปันของชิ้นใดชิ้นหนึ่งให้กับคนอื่นๆ ค่ะ วิธีนี้จะทำให้เด็กเรียนรู้ว่า เขาเป็นผู้มีสิทธิ์ตัดสินใจเลือกเอง และเขาสามารถแบ่งของได้ แถมผู้รับก็มีความสุขอีกด้วยค่ะ แต่ถ้าเขายังไม่พร้อมแบ่ง ก็ชะลอใจพ่อแม่ก่อนนะคะ รอลูกพร้อมก่อนได้ค่ะ
ครูปองกระซิบเทคนิคที่สำคัญเลย ก็คือ เทคนิคทางเลือกร่วมกันค่ะ
4. ชม เมื่อลูกเกิดพฤติกรรมการแบ่งปัน พ่อแม่ชมทันทีเลยค่ะ การชมทันทีจะทำให้ลูกเชื่อมโยงสิ่งที่เขาทำกับผลที่เกิดได้ดีมากขึ้น และทำให้เกิดพฤติกรรมดีซ้ำขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ นอกจากชมตัวลูก พฤติกรรมที่ลูกทำแล้ว ยังสามารถให้ลูกสังเกตความรู้สึกของผู้รับได้อีกด้วยค่ะ จะทำให้ลูกเรียนรู้ที่จะเข้าใจความรู้สึกผู้อื่นมากขึ้นค่ะ
ครูปองกระซิบบอกเทคนิคสำหรับขั้นนี้ คือ เทคนิคเติมใจฟูค่ะ
สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ การตั้งกติกาข้อตกลงร่วมกันก่อนค่ะ ไม่ว่าจะเป็น สิ่งของใครผู้นั้นมีสิทธิ์ตัดสินใจ เราไม่ทำร้ายกัน หรือเล่นกันคนละกี่นาที สิ่งเหล่านี้พ่อแม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้า ตกลงกับลูกก่อน ก็จะช่วยให้สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายได้ดี และเป็นการป้องกันความขัดแย้งอีกด้วยค่ะ ลองนำวิธีต่างๆ ไปใช้กันดูนะคะ
Recent Comments
Archives
Categories
Categories
- Blog (9)