จบการแข่งด้วยรอยยิ้ม
หากพูดถึงเรื่องของการแข่งขันคงเป็นเรื่องที่หลายครอบครัวไม่อยากให้เกิดและพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการแข่งขัน หรือการเปรียบเทียบขึ้น เพราะผลจากการแข่งขัน บางครั้งก็ไม่น่ายินดีเสมอไป แต่ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ ว่า การแข่งขันเป็นหนึ่งกลไกในสังคมที่ต้องเกิดขึ้น แม้ว่าลูกจะไม่เคยเจอการแข่งขันในครอบครัว แต่พอออกสู่โลกกว้างย่อมมีการแข่งขันที่เกิดขึ้นเสมอ หากลูกเคยมีประสบการณ์เรื่องการแข่งขันมาบ้าง รู้จักตัวเอง สามารถเรียนรู้จัดการอารมณ์ได้ ก็จะทำให้มีภูมิต้านทานและรับมือการแข่งขันในอนาคตได้ดีขึ้น
ก่อนอื่น เรามารู้จักกับ การแข่งขัน กันก่อนค่ะ จริงๆ แล้ว การแข่งขันเป็นหนึ่งในสัญชาตญาณของมนุษย์ในการเอาตัวรอด และจะเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เพราะฉะนั้นบางทีความรู้สึกอยากจะเเข่งขันก็เกิดขึ้นเอง โดยที่ไม่ต้องสอน กลไกและผลของการแข่งขันนั้น มีส่วนดีหลายด้าน ทั้งความมุมานะ ความพยายาม การมุ่งเป้าหมาย ความภาคภูมิใจและความมั่นใจในตัวเอง แต่ผลไม่ได้มีด้านเดียวด้านตรงข้ามก็มีหลายส่วนเช่นกันที่เด็กต้องฝึกรับมือให้ได้ ไม่ว่าจะเป็น การจัดการกับอารมณ์ ผิดหวัง เสียใจ ยอมรับ ให้อภัย ให้โอกาสตัวเอง ฮึดเริ่มใหม่ ซึ่งเรื่องพวกนี้ สามารถฝึกและปรับได้ เป็นการฝึกระยะยาวค่ะ พ่อแม่อย่าเผลอไปตัดสินลูกตั้งแต่ยังเด็กนะคะ ทีนี้เรามาดูกันว่าพ่อแม่พลังบวกจะฝึกอย่างไร..
ในส่วนของลูก ครูปองเสนอประเด็นการฝึก 3 ด้านด้วยกันค่ะ
ฝึกรับอารมณ์ ในภาวะที่อารมณ์ท่วมท้น ทั้งสุข ทั้งโมโห ทั้งหงุดหงิด ทั้งเศร้า เสียใจ ผิดหวัง อารมณ์เหล่านี้ล้วนเป็นอารมณ์ที่ต้องการคนกอดทั้งสิ้น การกอดไม่ใช่การโอ๋ หรือตามใจ การกอดแสดงถึงความรัก และการอยู่ข้างกันด้วยความเข้าใจ ยอมรับกันโดยไม่ตัดสินถูกและผิด เพราะฉะนั้นเทคนิคยอมรับและสะท้อนอารมณ์จึงจำเป็นมากที่ช่วยให้ลูกสงบอารมณ์ได้ และพ่อแม่เองก็เปิดโอกาส
ให้ลูกได้ฝึกควบคุมอารมณ์ด้วยตัวเขาเองเช่นเดียวกัน
ฝึกใจ การฝึกด้านนี้จะโตขึ้นมาจากการควบคุมอารมณ์ แต่สำคัญไม่แพ้กัน ส่วนนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่ออารมณ์สงบ เป็นการฝึกให้เด็กยอมรับตัวเอง ยอมรับผลที่เกิดขึ้น และให้โอกาสตัวเองในการเรียนรู้ ลองทำใหม่อีกครั้ง
ฝึกความคิด ในวัยที่โตขึ้นมาหน่อย ใจเริ่มมีภูมิต้านทาน ก็จะเริ่มเรียนรู้ วิเคราะห์สิ่งที่ได้ทั้งจากความผิดหวังและสมหวัง นำไปสู่การพัฒนาตนเอง พร้อมทั้งเข้าใจ เห็นใจผู้อื่นต่อไปค่ะ
จะเห็นได้ว่า ในการฝึกแต่ละด้านในแต่ละช่วงอายุจะมีเป้าหมายในการฝึกแตกต่างกัน บางด้านฝึกได้ แต่ไม่คาดหวังผล จะเห็นผลชัดเจนตอนโตมากกว่า บางด้านต้องฝึกต่อเนื่อง จนกว่าจะแข็งแรงค่ะ
ในส่วนของพ่อแม่ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ท่าทีของพ่อแม่ ที่มีต่อการแข่งขัน รวมทั้งผลของการแข่งขันค่ะ ครูปองเสนอการตั้งรับ 3 ข้อเช่นกันค่ะ
ตั้งรับอารมณ์ลูก อย่างที่คาดการณ์กันไว้แล้วว่า สมองส่วนอารมณ์จะถูกกระตุ้นมากจากการแข่งขัน เพราะฉะนั้นพ่อแม่เย็นได้เท่าไหร่ ลูกยิ่งรับมือกับอารมณ์ตัวเองได้ดีเท่านั้นค่ะ พ่อแม่จึงต้องควบคุมอารมณ์ตัวเอง เหตุผลและสิ่งที่พ่อแม่คิดว่าควรจะต้องเป็นแบบนั้น แล้วหันกลับมามองในมุมลูก ซัพพอร์ตอารมณ์ลูกก่อนค่ะ แล้วเราสอนกันหลังจากพายุสงบค่ะ
ตั้งรับใจตัวเอง ขั้นนี้ท้าทายพ่อแม่มากค่ะ ตอนแรกพ่อแม่ต้องชะลอใจ ยับยั้งใจตัวเอง ไม่พูดหรือนำความคิดของตัวเองไปตัดสินลูก และเมื่อลูกสามารถรับมือได้ในระดับหนึ่งก็ต้องชะลอการช่วยเหลือในวันที่ลูกล้ม เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้ฝึกทักษะเพื่อควบคุมตัวเองและรับมือแก้ปัญหาด้วยตัวเองค่ะ พ่อแม่เตือนใจตัวเองนะคะ ว่า
ไม่ว่ายังไงเราคือต้นแบบที่เป็นโมเดลและเป็นหลักให้ลูก แต่คนที่จะคลี่คลายได้คือตัวลูกเอง
ตั้งรับสมองประลองคำถาม เมื่อทุกอย่างสงบ เรามาเริ่มสอนกันค่ะ การสอนในที่นี้เราจะสอนผ่านโมเดลและการตั้งคำถามค่ะ การถามคำถามเพื่อรับฟัง แสดงความเข้าใจ สะท้อนความคิดเห็น อาจจะเรื่องที่เกิดขึ้นหรือจากประสบการณ์เดิมของพ่อแม่ก็เป็นทางเลือกที่เรานำมาสอนลูกได้ค่ะ การสอนโดยใช้คำถามให้ลูกคิด เป็นการพัฒนาสมองส่วนเหตุผลที่ดีวิธีหนึ่งเลยค่ะ ทำให้ลูกวิเคราะห์และเลือกตัดสินใจวิธีของตัวเองโดยพ่อแม่คอยสนับสนุน แต่พ่อแม่อย่าเผลอตัดสินแทนลูกนะคะ
อีกทริคสั้นๆ คือ อารมณ์ขันค่ะ รับมือด้วยมุมบวก มีความสุขกับสถานการณ์ท้าทาย ด้วยความไม่ตึงเครียดจะทำใกห้คลี่คลายได้ดีขึ้น และเป็นพลังที่ช่วยได้ดีมากเลยค่ะ
คุณพ่อคุณแม่ลองนำวิธีการไปปรับใช้ฝึกใจตัวเองและลูกนะคะ เริ่มต้นจากความเข้าใจ และการยอมรับ ก็จะทำให้สถานการณ์ที่ดูยากกลายเป็นเรื่องท้าทายที่สนุกสนานได้ค่ะ
Recent Comments
Archives
Categories
Categories
- Blog (9)